วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การพัฒนาอย่างยั่งยืน





"การพัฒนาอย่างยั่งยืน" (Sustainable Development)

นับวัน ผลเสียของวิถีการพัฒนาแบบ “สุดโต่ง” ที่เน้นเรื่องอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศเพียงมิติเดียว โดยไม่สนใจมิติอื่นๆ โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ก็ยิ่งปรากฏให้เราเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในแทบทุกประเทศในโลก เป็นสาเหตุสำคัญที่ฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ รัฐบาล และองค์กรโลกบาลหลายแห่ง หันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (sustainable development) มากขึ้นเรื่อยๆ
ในรายงานพัฒนามนุษย์ (Human Development Report) ประจำปี ค.ศ. 1996 องค์กรเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme หรือ ยูเอ็นดีพี) ระบุว่า “คุณภาพ” ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สำคัญกว่า “อัตรา” การเจริญเติบโตดังกล่าว ยูเอ็นดีพีขยายความว่า แบบแผนการเจริญเติบโตที่ทำความเสียหายในระยะยาวมีทั้งหมด 5 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ การเติบโตที่ไม่สร้างงานให้กับประชากร (rootless growth), การเติบโตที่ทิ้งห่างกระแสประชาธิปไตย (voiceless growth), การเติบโตที่กดทับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมจนสิ้นสลาย (rootless growth), การเติบโตที่ทำลายสิ่งแวดล้อม (futureless growth), และการเติบโตที่ประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือคนรวยเท่านั้น (ruthless growth)
ยูเอ็นดีพีสรุปว่า การเติบโตทั้ง 5 รูปแบบดังกล่าวนั้นล้วนเป็นการเติบโตที่ “ทั้งไม่ยั่งยืน และไม่สมควรจะยั่งยืน”
แนวคิด “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ไม่ใช่เรื่องใหม่ วัฒนธรรมมากมายในประวัติศาสตร์มนุษย์ รวมทั้งวัฒนธรรมชุมชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้มองเห็นความจำเป็นของการสร้างความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เป็นเรื่อง “ใหม่” ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ คือความพยายามที่จะนิยาม สร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ และแจกแจงองค์ประกอบต่างๆ ของแนวคิดนี้ ในบริบทของสังคมอุตสาหกรรมและข้อมูลข่าวสารระดับโลก เราอาจสาวรากของแนวคิด “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ไปถึงหนังสือเรื่อง “Silent Spring” (ฤดูใบไม้ผลิที่เงียบงัน) โดย Rachel Carson ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1962 ตีแผ่ผลกระทบของยาฆ่าแมลงที่เรียกว่า DDT ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพด้วยข้อมูลที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ ทำให้เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนอเมริกันอย่างกว้างขวาง และนำไปสู่การประกาศแบน DDT ในปี 1972 นักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ยกย่อง Silent Spring ว่าเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้คนจำนวนมากหันมาตระหนักถึงความเกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
“การพัฒนาอย่างยั่งยืน” หมายความว่าอะไร และมีลักษณะอย่างไร? วันนี้ผู้เขียนจะเก็บความจากเนื้อหาในเว็บไซต์ Sustainability Development Gateway (SD Gateway - http://sdgateway.net/) มาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้:
“การพัฒนาอย่างยั่งยืน” สำหรับแต่ละคนย่อมมีความหมายไม่เหมือนกัน เนื่องเพราะ “ระยะยาว” ของแต่ละคนอาจยาวสั้นแตกต่างกัน แต่นิยามที่คนนิยมอ้างอิงมากที่สุดมาจากรายงานชื่อ “อนาคตร่วมของเรา” (Our Common Future หรือที่รู้จักในชื่อ “รายงานบรุนด์ท์แลนด์” - the Brundtland Report) โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน หมายถึงวิถีการพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของปัจจุบันโดยไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลังในการตอบสนองความต้องการของพวกเขา”
เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ได้อยู่ที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หากอยู่ที่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรโลกในทางที่ไม่เพิ่มระดับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกินศักยภาพของธรรมชาติที่จะผลิตมันให้มนุษย์ใช้อย่างไร้ขีดจำกัด การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความเข้าใจว่า การนิ่งเฉยไม่ทำอะไรเลยมีผลกระทบ และเราต้องหาหนทางใหม่ๆ ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงสถาบันและพฤติกรรมของปัจเจกชน
แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ในปี 1992 ผู้นำนานาชาติที่มาพบกันในการประชุมสุดยอดแห่งโลก (Earth Summit) ในกรุงริโอ เดอ จาเนโรในบราซิล นำเค้าโครงของรายงานบรุนด์ท์แลนด์ไปสร้างสนธิสัญญาและแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นหลักๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ ผู้เข้าประชุมยังได้ร่วมกันร่างแผนกลยุทธ์กว้างๆ เรียกว่า “Agenda 21” เพื่อใช้เป็นแผนที่สำหรับงานด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาในอนาคต หลังจากการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าว ก็มีกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจ รัฐบาลท้องถิ่น ไปจนถึงองค์กรโลกบาลอย่างธนาคารโลก ที่นำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปตีความ ต่อยอด และปรับใช้ในบริบทของตัวเอง จวบจนปัจจุบันและยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ถึงแม้ว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นแนวคิดลื่นไหลที่วิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ก็มีลักษณะสำคัญบางประการที่อยู่ภายใต้เส้นความคิดหลายกระแส ได้แก่
1) ความเท่าเทียมกัน (equity) และความยุติธรรม (fairness) เป็นประเด็นสำคัญ การพัฒนาอย่างยั่งยืนอยากตอบสนองความต้องการของคนจนและประชากรผู้ด้อยโอกาส ไอเดียเรื่องความเท่าเทียมกันและความยุติธรรมเป็นส่วนประกอบสำคัญในนิยามของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพราะตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าเราละเลยผลกระทบจากการกระทำของเราต่อคนอื่นในโลกที่เกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน เราก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นกับตัวเองในอนาคตด้วย
เนื่องจากระบบเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะของเราส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงระบบเหล่านี้ ความยุติธรรมหมายความว่า ประเทศแต่ละประเทศควรมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองบนพื้นฐานของคุณค่าทางวัฒนธรรมและสังคมของตัวเอง โดยไม่ปฏิเสธว่าประเทศอื่นๆ ก็ล้วนมีสิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกัน หนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือ เราจะปกป้องสิทธิของคนที่ไม่มีสิทธิออกเสียงได้อย่างไร คนรุ่นหลังที่ยังไม่เกิดไม่สามารถออกความเห็นหรือปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ของคนรุ่นปัจจุบัน ถ้าการพัฒนาจะยั่งยืนได้จริง เราจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของพวกเขาด้วย
2) มีมุมมองระยะยาว (long-term view) ภายใต้หลักความรอบคอบ (precautionary principle) “ระยะยาว” ยาวแค่ไหน? ในสังคมตะวันตกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การวางแผนของภาครัฐมองระยะเวลาเพียงสามถึงห้าปีเท่านั้น ปัจจุบัน “ระยะยาว” ในความหมายของนักค้าหุ้นและนักค้าเงินคือระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ในขณะที่ชาวอินเดียนแดงในอเมริกาวางแผนสำหรับ “คนรุ่นที่เจ็ดนับจากนี้” พวกเขาวางแผนเป้าหมายและกิจกรรมต่างๆ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อคนรุ่นหลังอีกเจ็ดชั่วคน เท่ากับว่าวางแผนล่วงหน้าถึง 150 ปีทีเดียว สำหรับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้เชี่ยวชาญบางคนเสนอว่า ตราบใดที่คนรุ่นหนึ่งคิดถึงคนรุ่นต่อไป (ประมาณ 50 ปี) ก็แปลว่าคนทุกรุ่นจะได้รับการดูแล แน่นอน ถ้าเรามองเห็นว่าเรื่องใดก็ตามจะส่งผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตที่ไกลกว่านั้น เราก็ควรจะวางแผนให้ยาวขึ้น ไม่มีคนรุ่นไหนสามารถการันตีผลลัพธ์ในอนาคตที่พยากรณ์ไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มีคนรุ่นไหนที่ควรทำเป็นมองไม่เห็นผลลัพธ์ที่พยากรณ์ได้
ในโลกที่เรารู้แล้วว่าทุกมิติมีความเกี่ยวโยงและส่งผลกระทบซึ่งกันและกันเพียงใด ปฏิสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนกำลังเร่งอัตราการเปลี่ยนแปลงและการก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ หลักความรอบคอบช่วยแนะแนวให้เราได้ หลักการชุดนี้บอกว่า เมื่อกิจกรรมใดๆ ก็ตามเพิ่มขีดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพมนุษย์ เราควรต้องใช้มาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบ ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์อาจจะยังไม่สามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุและผลได้ทั้งหมด
3) การคิดแบบเป็นระบบ (systems thinking) ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจในความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เป็นเวลานานกว่าสองศตวรรษแล้วที่เรารู้ว่า โลกนี้เป็นระบบปิดที่มีทรัพยากรจำกัด เมื่อนักสำรวจทำงานสำรวจผิวดินและพื้นน้ำสำเร็จลง คนก็ค่อยๆ เข้าใจว่าโลกนี้ไม่มีทรัพยากร “ใหม่” เรามีโลกเพียงใบเดียว กิจกรรมทั้งหมดของเราเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของระบบธรรมชาติที่ใหญ่ยิ่งกว่า เราต้องมองเห็นว่าระบบที่เดินด้วยน้ำมือมนุษย์ทั้งหมดนั้นอยู่ภายในระบบนิเวศที่ใหญ่กว่า ก่อนที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม และทำให้เรามั่นใจได้ว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์จะอยู่รอดต่อไปในอนาคต
ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดที่มนุษย์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำ ไม้ เหล็ก ฟอสฟอรัส น้ำมัน และทรัพยากรอื่นๆ อีกหลายร้อยชนิด ล้วนมีขีดจำกัดทั้งในแง่ของแหล่งที่มาและแหล่งที่ไป (sink) แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนบอกเราว่า เราไม่ควรนำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ในอัตราที่เร็วกว่าความสามารถของเราในการผลิตทรัพยากรทดแทน และเราก็ไม่ควรทิ้งทรัพยากรธรรมชาติในอัตราที่เร็วกว่าอัตราที่ธรรมชาติจะสามารถดูดซับมันกลับเข้าไปในระบบ ถึงแม้ว่าปัญหาทรัพยากรร่อยหรอจะเป็นประเด็นกังวลหลักของนักสิ่งแวดล้อมในอดีต วันนี้ นักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เป็นกังวลเรื่องที่เราจะไม่เหลือแหล่งทิ้งทรัพยากรแล้วมากกว่า ปัญหาโลกร้อน รูในชั้นโอโซน และความขัดแย้งเรื่องการส่งออกขยะอันตราย ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดจากการที่เราพยายามทิ้งทรัพยากรเร็วกว่าอัตราที่ธรรมชาติจะสามารถรองรับได้
การคิดแบบเป็นระบบผลักดันให้เราเข้าใจว่า ถึงแม้โลกจะมีเพียงใบเดียว มันก็เป็นโลกที่ประกอบด้วยระบบย่อย (subsystems) มากมายที่มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ปัจจุบันการพัฒนาโมเดลต่างๆ เพื่ออธิบายระบบย่อยเหล่านี้ได้รุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง โมเดลเหล่านี้เป็นกรอบคิดที่เป็นประโยชน์สำหรับการเลือกดัชนีชี้วัดความคืบหน้าของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ค่านิยมและการสัมผัสรับรู้




ค่านิยมและการสัมผัสรับรู้

            ค่านิยม หมายถึง สิ่งที่สังคมถือว่ามีค่าพึงปราถนาต้องการให้เป็นเป้าหมายของสังคมและปลูกฝังให้สมาชิกของสังคมยึดถือเป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตควรหลีกเลี่ยง เช่น ความยากจน สิ่งมีคุณค่า น่าปราถนา หรือนำความสุขมาให้มีทั้งเป็นวัตถุและไม่เป็นวัตถุ          
      ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ และนำไปสู่การกระทำจะเกี่ยวข้องกับความต้องการและแรงจูงใจของผู้บริโภค และ (4) การรับรู้ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงได้
    อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะได้ การที่บุคคลมีการรับรู้ถึงการขาดในผลิตภัณฑ์อาจนำไปสู่การกระทำทางการตลาดได้
ฉะนั้นเพื่อให้เข้าใจความหมายของการรับรู้ได้ดียิ่งขึ้น เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงสิ่งต่อไปนี้คือ (1) การรับรู้และความรู้สึกจากการสัมผัสเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนกัน (2) การตอบสนองของผู้บริโภคมีรากฐานมาจากการรับรู้ (3) การรับรู้
  ค่านิยมเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาได้เช่นเดียวกันกับความเชื่อและมีความแตกต่างกันไปตามสังคมและวัฒนธรรมค่านิยมส่วนใหญเนื่องมาจากความเชื่อ
          
            ค่านิยมไทยใหม่จะมีลักษณะสากลมากขึ้น เช่น นิยมยกย่องวัตถุ ความมั่นคง ความหรูหราฟุ่มเฟือย ความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ยึดมั่นในประเพณี ชื่นชมวัฒนธรรมตะวันตก และเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือ อำนาจและเกียรติยศชื่อเสียง การดูแลรักษาสุขภาพด้วยโภชนาการ และการออกกำลังกาย
 
        การรับรู้/การสัมผัสรู้เป็นปัจจัย 1 ใน 3 ปัจจัยการรู้ (awareness) ที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค การรับรู้/การสัมผัสรู้เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่บุคคลมีการมองเห็นหรือพิจารณาเกี่ยวกับตนเองและโลกของบุคคลว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการรับรู้เป็นปัจจัยหนึ่งที่แยกออกไปไม่ได้จากพื้นฐานอื่นๆ เนื่องจากความต้องการของบุคคลและแรงจูงใจต่างๆ คือสิ่งที่บุคคลได้รับรู้และทำให้บุคคลแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งก็เพราะบุคคลมีการรับรู้/การสัมผัสรู้ที่แตกต่างกัน แะนั้นในบทนี้จึงเป็นเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นผลมาจากการรับรู้/การสัมผัสรู้ ซึ่งจำเป็นต้องทราบตั้งแต่ความหมาย ผลกระทบของการรับรู้ที่มีต่อการตลาด คุณลักษณะของการรับรู้ที่มีผลต่อผู้บริโภค แนวความคิดที่สำคัญที่ว่าด้วยการเลือกสรรสิ่งที่ได้รับรู้ ตลอดทั้งกระบวนการรับรู้ของผู้บริโภค และปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้ของผู้บริโภคอันจะเป็นประโยชน์ต่อนักการตลาดที่จะได้เข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคแต่ละคนที่แตกต่างกันเพื่อนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้ดียิ่งขึ้นได้
     ความหมายของการรับรู้/การสัมผัสรู้ (Definition of perception)
     การรับรู้ (perception) สามารถอธิบายได้อย่างสั้นๆ คือ วิธีการที่บุคคลมองโลกที่อยู่รอบๆ ตังของบุคคล ฉะนั้นบุคคล 2 คนอาจมีความคิดต่อตัวกระตุ้นอย่างเดียวกันภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน แต่บุคคลทั้ง 2 อาจมีวิธีการยอมรับถึงตัวกระตุ้น (recognize) การเลือกสรร (select) การประมวล (organize) และการตีความ (interpret) เกี่ยวกับตัวกระตุ้นดังกล่าวไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ยังขึ้นกับพื้นฐานของกระบวนการของบุคคลแต่ละคนเกี่ยวกับความต้องการ ค่านิยม การคาดหวัง และปัจจัยอื่นๆ ดังนั้น การรับรู้สามารถให้คำจำกัดความได้ดังนี้
การรับรู้ (perception) หมายถึง “กระบวนการที่บุคคลแต่ละคนมีการเลือก การประมวลและการตีความเกี่ยวกับตัวกระตุ้นออกมาให้ความหมายและได้ภาพของโลกที่มีเนื้อหา” (Schiffman and Kanuk .19991:146)
นอกจากนี้ การรับรู้ยังสามารถอธิบายได้อย่างง่ายๆ คือหมายถึง “กระบวนการการตีความที่ผ่านประสาทสัมผัสใดๆ โดยตรง” ซึ่งจากความหมายนี้คำที่จะสื่อความหมายเดียวกับการรับรู้ การสัมผัสรู้ อันเป็นการรู้ที่เกิดจากการรับความรู้สึกเข้ามาทางประสาทสัมผัสเกิดเป็นความเข้าใจหรือความรู้สึกภายในของบุคคล แต่อย่างไรก็ตามจะขอใช้คำว่าการรับรู้ตลอดทั้งบทต่อไป ดังนั้นกล่าวอีกอย่างคือ การรับรู้ หมายถึง “การตีความหมายใจจิตใจของบุคคลที่จะทำให้เกิดการได้รู้ได้เข้าใจ” 
ดังนั้นการรับรู้ทุกครั้งที่เกิดขึ้นจะต้องมีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ เพื่อทำการตีความบางสิ่งบางอย่าง หรือเหตุการณ์ หรือความสัมพันธ์ในฐานะเป็นสิ่งที่สัมผัสรู้อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องในฐานะเป็นสิ่งที่สัมผัสรู้ โดยการผ่านประสาทสัมผัส มนุษย์ทุกคนรู้ทุกสิ่งในโลกโดยผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัส เมื่อผู้บริโภคบอกว่า ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ให้ข้อเสนอที่ดีกว่าในการซื้อขาย นั่งแสดงว่าบุคคลได้บอกถึงบางสิ่งบางอย่างที่บุคคลได้สัมผัสรู้มาจากประสบการณที่ผ่านเข้ามาทางการสัมผัส วิธีการที่ผู้บริโภคคิดและกระทำจะเป็นผลมาจากการรับรู้ถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ วิธีการนี้ผู้บริโภคมีการจัดการกับข้อมูลใหม่ๆ ที่รับเข้ามาโดยการประมวลและตีความถึงสิ่งกระตุ้นที่เข้ามากระทบประสาทสัมผัสของผู้บริโภค ซึ่งก็คือ การรับรู้นั่นเอง
จากประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า ทัศนคติ ความต้องการและแรงจูงใจต่างเป็นเงื่อนไขที่จะเกิดการรับรู้ของบุคคล การรับรู้ถึงความต้องการและแรงจูงใจทำให้มีการเปลี่ยนทัศนคติได้ และทัศนคติก็เป็นเงื่อนไขที่มีผลต่อวิธีการรับรู้ของผู้บริโภค นอกจากนี้ กลยุทธ์การซื้อของผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบที่มาจากการรับรู้ด้วย โดยบุคคลจะมีการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ วิธีการ



ความหลากหลาย



ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (อังกฤษ: cultural diversity) เป็นความเชื่อที่ค่อนตรงกันให้หมู่นักมานุษยวิทยาว่ามนุษย์มีกำเนิดในทวีปแอฟริกาเมื่อประมาณ 2 ล้านมาแล้ว จากนั้นได้เริ่มกระจายตัวไปทั่วโลก ประสบความสำเร็จในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย และบ่อยครั้งที่ต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภัยพิบัติร้ายแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศทั้งในระดับพื้นถิ่นและระดับทั่วโลก สังคมที่แยกจากห่างกันที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ของโลกมีความแตกต่างกันชัดเจน และความแตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรมยังคงมีความต่อเนื่องสืบมาถึงปัจจุบัน
แม้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมระหว่างหมู่ชนจะยังคงมีอยู่ เช่นความแตกต่างทางภาษา การแต่งกายและประเพณีก็ตาม แต่ในความแตกต่างที่หลากหลายในสังคมต่างๆ ก็ยังปรากฏให้เห็นความคล้ายในตัวของสังคมที่หลากหลาย คือแนวคิดทางศีลธรรมและวิธีที่กลุ่มชนในสังคมมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โจ เนลสันจากแสตมฟอร์ด เวอร์จิเนียเป็นผู้ทำให้วลี "วัฒนธรรมและความหลากหลาย" เป็นที่รู้จักแพร่หลายในช่วงที่เขาอยู่ในแอฟริกา เป็นที่ถกเถียงกันว่าความแตกต่างเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งมนุษย์สร้างที่เกิดขึ้นตามธรรมดาอยู่แล้วตามรูปแบบของการย้ายถิ่นของมนุษย์ไปในที่ต่างๆ หรือว่านี่คือตัวการที่เป็นหัวใจของของการสืบสายพันธ์ในช่วงวิวัฒนาการที่ทำให้สายพันธุ์ของมนุษย์ประสบความสำเร็จมากกว่าสัตว์พันธุ์อื่นๆ ด้วยการเทียบเทียบแนวกับ "ความหลากหลายทางชีวภาพ" ที่เชื่อกันว่ามีความสำคัญยิ่งยวดต่อการมีชีวิตรอดในระยะยาวของทุกชีวิตบนโลก ความหลากหลายทางวัฒนธรรมย่อมมีความสำคัญยิ่งต่อการอยู่รอดในระยะยาวของมวลมนุษยชาติด้วย นั่นคือ การอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้ย่อมมีความสำคัญเท่าๆ กันกับกับการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์และระบบนิเวศเพื่อให้สิ่งมีชีวิตบนโลกโดยรวมอยู่ได้
บทอภิปรายนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ประการแรก เช่นเดียวกับความน่าเชื่อของการวิวัฒนาการตามธรรมชาติของมนุษย์ ความสำคัญของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นสิ่งทำให้มนุษย์อยู่รอดได้ยังคงเป็นสมมุติฐานที่ยังไม่ได้รับการทดสอบซึ่งอาจไม่มีความชอบธรรมทางจรรยาบรรณที่จะอนุรักษ์ "สังคมที่ยังพัฒนาน้อย" ไว้เพราะอาจเป็นการห้ามผู้คนในสังคมนั้นไม่ให้ได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแพทย์ที่สร้างความสะดวกสบายและสวัสดิภาพแก่ "สังคมพัฒนาแล้ว" ประการสุดท้าย มีชนหลายหมู่โดยเฉพาะที่หมู่ชนมีความเชื่อทางศาสนาอย่างแรงกล้า ที่เชื่อว่าศาสนานั้นคือสิ่งที่ให้คุณประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่ตัวบุคคลและมวลมนุษย์โดยรวม ดังนั้นจึงควรมุ่งติดอยู่กับรูปแบบการดำรงชีวิตเพียงแบบเดียวที่หมู่ชนนั้นๆ เห็นว่าถูกต้องที่สุด ตัวอย่างเช่น องค์การสอนศาสนา "ฟันดาเมนทอลลิสต์อีแวนเจลิสต์" เช่น "นิวไทรบ์มิสชัน" ซึ่งทำงานอย่างแข็งขันเพื่อลดความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยการเลือกสังคมชนเผ่าที่อยู่ห่างไกล จับพวกชนเผ่าเหล่านั้นเข้ารีตกับความเชื่อของพวกเขาเองแล้วโน้มนำให้ชนเผ่าเหล่านั้นปรับเปลี่ยนรูปแบบสังคมของตนเองตามหลักการของพวกเขาเอง
การแจงนับความหลากหลายทางวัฒนธรรมนับเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ตัวบ่งชี้ที่นับได้ว่าใช้ได้ดีตัวหนึ่งคือการนับจำนวนภาษาที่ใช้พูดในภูมิภาคนั้น หรือในโลกโดยรวม วิธีการนี้ จะช่วยให้มองเห็นระยะของการถดถอยที่รวดเร็วขึ้นในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของโลก งานวิจัยที่ทำเมื่อช่วงทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2524-2533) โดยเดวิด คริสทัล (ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาภาษาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ บังกอร์) เสนอแนะในขณะนั้นว่า โดยเฉลี่ยในทุกสองสัปดาห์จะมีภาษาหนึ่งภาษาที่ถูกเลิกใช้ไป คริสทัลคำนวณว่า ถ้าการตายของภาษาอยู่ในอัตรานี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อถึง พ.ศ. 2643 ภาษาที่ใช้พูดในโลกปัจจุบันจะสูญหายไปมากกว่าร้อยละ 90
ประชากรที่มากเกินไป การย้ายถิ่นและจักรวรรดินิยม (ทั้งทางการทหารและเชิงวัฒนธรรม) คือสาเหตุที่นำมาใช้อธิบายการลดถอยของจำนวนภาษาดังกล่าว
มีองค์การนานาชาติหลายองค์การที่กำลังพยายามทำงานเพื่อปกป้องการคุกคามดังกล่าวที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรมซึ่งรวมถึงหน่วยงาน "สืบชีวิตนานาชาติ" (Survival International) และยูเนสโกได้ออก "ประกาศสากลยูเนสโกว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม" (The UNESCO Universal Declaration on Cultural Diversity) โดยได้รับการยอมรับโดยประเทศสมาชิก 185 ประเทศเมื่อ พ.ศ. 2544 ยอมรับให้มีการกำหนดมาตรฐานนานาชาติเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการพิทักษ์รักษาและส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและบทโต้ตอบระหว่างวัฒนธรรม
สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เครือข่ายแห่งความป็นเลิศ "การพัฒนาอย่างยั่งยืนในโลกที่มีความหลากหลาย" (Sustainable Development in a Diverse World -SUS.DIV) SUS.DIV สร้างขึ้นด้วยประกาศยูเนสโกที่จะสอบสวนความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการพัฒนาแบบยั่งยืน

[แก้]

การพึ่งพาอาศัยกัน





การพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence)

            การพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence) ได้แก่ ความเข้าใจตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันของผู้คน ถิ่นฐาน เศรษฐกิจ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เข้าใจสภาวการณ์ในระดับโลก สามารถเรียนรู้ที่จะจัดการกับความซับซ้อนได้

การพึ่งพากัน 

            การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของประเทศต่างๆในด้านการรวมตัวเป็นองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจก็ เนื่องมาจากความมั่นคงและสวัสดิการของประเทศ ซึ่งการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วในภาวะเศรษฐกิจที่มีการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และเน้นภาคธุรกิจหรือ ผลผลิตทางภาคอุตสาหกรรม ยิ่งกว่านั้น เมื่อกระบวนการผลิตใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ย่อมทำให้ สินค้าและบริการออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบการค้า มักจะถือกันว่าเป็นรูปแบบ ของกระบวนการ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ อัตราส่วนของการค้าต่อผลิตภัณฑ์ มวลรวมประชาชาติ ขยายตัวมากขึ้นย่อมหมายถึงประเทศนั้น มีการพึ่งพิงระบบการค้า ระหว่างประเทศมากขึ้นด้วย ทำให้การเจริญเติบโตของประเทศต้องอาศัยการพึ่งพากันทางการค้า และการลงทุน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ 

             ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยน เทคโนโลยีและทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศสมาชิกในองค์กรได้รับผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆได้ เช่น ความร่วมมือกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว และได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มในด้าน การพึ่งพาอาศัยกัน เช่น แต่ละประเทศจะผลิตสินค้าหรือใช้ปัจจัยการผลิตที่ประเทศตนเอง สามารถผลิตได้ กล่าวคือ ประเทศไทยผลิตเกลือหินและโซดาแอช อินโดนีเซียและ มาเลเซียผลิตปุ๋ยยูเรีย สิงคโปร์ผลิตเครื่องยนต์ดีเซล และฟิลิปปินส์ผลิตปุ๋ยฟอสเฟต ซึ่งแต่ละประเทศมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้ส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศได้มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้นด้วย ดังนั้นการพึ่งพาอาศัยกันในรูปของการร่วมมือทางเศรษฐกิจ ของแต่ละประเทศ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่าง จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และองค์กรที่มีความเข้มแข็งสามารถต่อรองทางการค้ากับประเทศต่างๆได้

การอยู่ร่วมกันในสังคม             การอยู่ร่วมกันในชุมชนดั้งเดิมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องไม่กี่ตระกูล ซึ่งได้อพยพ ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ หรือสืบทอดบรรพบุรุษจนนับญาติกันได้ทั้งชุมชน มีคนเฒ่าคนแก่ที่ชาวบ้าน เคารพนับถือเป็นผู้นำ หน้าที่ของผู้นำไม่ใช่การ สั่ง แต่เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา มีความแม่นยำในกฏระเบียบประเพณีการดำเนินชีวิต ตัดสินไกล่เกลี่ยหากเกิดความขัดแย้ง ช่วยกันแก้ไข ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น"ผิดผี" คือ ผีของบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้สร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้ เช่น กรณีที่ชายหนุ่มถูกเนื้อ ต้องตัวหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน เป็นต้น หากเกิด การผิดผีขึ้นมา ก็ต้องมีพิธีกรรมขอขมา โดยมี คนเฒ่าคนแก่เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ มีการ ว่ากล่าวสั่งสอนและชดเชยการทำผิดนั้นตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้

            ชาวบ้านอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยามเกิดอุบัติเหตุเภทภัย ยามที่โจร ขโมยวัวควายข้าวของ การช่วยเหลือกันทำงาน ที่เรียกกันว่า การลงแขก ทั้งแรงกายแรงใจ ที่มีอยู่ก็จะแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน การ แลกเปลี่ยนสิ่งของ อาหารการกิน และอื่น ๆ จึงเกี่ยวข้องกับวิถีของชุมชน ชาวบ้านช่วยกัน เก็บเกี่ยวข้าว สร้างบ้าน หรืองานอื่นที่ต้องการ คนมาก ๆ เพื่อจะได้เสร็จโดยเร็ว ไม่มีการจ้าง กรณีตัวอย่างจากการปลูกข้าวของชาวบ้านถ้าปีหนึ่งชาวนาปลูกข้าวได้ผลดี ผลิตผลที่ได้จะ ใช้เพื่อการบริโภคในครอบครัว ทำบุญที่วัด เผื่อแผ่ให้พี่น้องที่ขาดแคลน แลกของ และเก็บ ไว้เผื่อว่าปีหน้าฝนอาจแล้ง น้ำอาจท่วม ผลิตผลอาจไม่ดี


            ในชุมชนต่าง ๆ จะมีผู้มีความรู้ความสามารถหลากหลาย บางคนเก่งทางการรักษาโรค บางคนทางการเพาะปลูกพืช บางคนทางการเลี้ยง สัตว์ บางคนทางด้านดนตรีการละเล่น บางคน เก่งทางด้านพิธีกรรม คนเหล่านี้ต่างก็ใช้ความ


สามารถเพื่อประโยชน์ของชุมชน โดยไม่ถือเป็น อาชีพที่มีค่าตอบแทน อย่างมากก็มี "ค่าครู"แต่เพียงเล็กน้อย ซึ่งปกติแล้ว เงินจำนวนนั้น ก็ใช้สำหรับเครื่องมือประกอบพิธีกรรม หรือ เพื่อทำบุญที่วัดมากกว่าที่หมอยาหรือบุคคลผู้นั้น


            จะเก็บไว้ใช้เอง เพราะแท้ที่จริงแล้ว "วิชา" ที่ ครูถ่ายทอดมาให้แก่ลูกศิษย์จะต้องนำไปใช้เพื่อ ประโยชน์แก่สังคม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วน ตัว การตอบแทนจึงไม่ใช่เงินหรือสิ่งของเสมอไป แต่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยวิธีการต่าง ๆ 


ด้วยวิถีชีวิตเช่นนี้ จึงมีคำถามเพื่อเป็นการ สอนคนรุ่นหลังว่า ถ้าหากคนหนึ่งจับปลาช่อน ตัวใหญ่ได้หนึ่งตัว ทำอย่างไรจึงจะกินได้ทั้งปี คนสมัยนี้อาจจะบอกว่า ทำปลาเค็ม ปลาร้า หรือ เก็บรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่คำตอบที่ถูกต้อง คือ แบ่งปันให้พี่น้องเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อ เขาได้ปลา เขาก็จะทำกับเราเช่นเดียวกัน
ชีวิตทางสังคมของหมู่บ้านมีศูนย์กลางอยู่ที่วัด กิจกรรมของส่วนรวมจะทำกันที่วัด งานบุญประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนการละเล่นมหรสพ พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจ เป็นครูที่สอนลูก หลานผู้ชายซึ่งไปรับใช้พระสงฆ์ หรือ "บวชเรียน"


            ทั้งนี้เพราะก่อนนี้ยังไม่มีโรงเรียน วัดจึงเป็นทั้งโรงเรียนและหอประชุมเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ต่อเมื่อโรงเรียนมีขึ้นและแยกออกจากวัด บทบาท ของวัดและของพระสงฆ์จึงเปลี่ยนไป
งานบุญประเพณีในชุมชนแต่ก่อนมีอยู่ทุก เดือน ต่อมาก็ลดลงไปหรือสองสามหมู่บ้านร่วมกันจัด หรือผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน เช่น งานเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นงานใหญ่ หมู่บ้าน เล็ก ๆ ไม่อาจจะจัดได้ทุกปี งานเหล่านี้มีทั้งความเชื่อ พิธีกรรมและความสนุกสนาน ซึ่งชุมชน แสดงออกร่วมกัน

ความเป็นพลเมืองโลก






การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง
วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต
          ผู้ใหญ่จำนวนมากมักบ่นกันว่าทำไมนักเรียนปัจจุบันจึงไม่เรียนวิชา "หน้าที่พลเมือง"คำตอบก็คือ มันได้ถูกลดความสำคัญให้เหลือเพียงเป็นสาระหนึ่งในสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาเท่านั้น และอีกทั้งเป็นวิชาที่แทบไม่มีผลต่อการเรียนต่อหรือเข้ามหาวิทยาลัยเลย ดังนั้น จึงไม่ได้รับความสำคัญและขาดการพัฒนาอย่างเหมาะสมกับยุคสมัย ปัจจุบันกำลังจะกลับคืนมาแล้วตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
          คณะอนุกรรมการด้านพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดี ซึ่งมีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธาน ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองได้เสนอยุทธศาสตร์ต่อคณะกรรมการนโยบาย และได้รับการอนุมัติแล้วขอนำข้อความบางส่วนจากเอกสาร "ยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง พ.ศ.2553-2561"มาเผยแพร่".....'ประชาธิปไตย' คือการปกครองโดยประชาชนหรือประชาชนปกครองตนเอง ประชาธิปไตยจึงไม่อาจประสบความสำเร็จได้ ถ้าประชาชนไม่มีความสามารถในการปกครองกันเองตามระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่เพียงแต่มีรัฐธรรมนูญที่ดีเท่านั้น แต่ประชาชนจะต้องเป็น "พลเมือง" ตามระบอบประชาธิปไตยด้วย กล่าวคือมีสมาชิกของสังคมที่ใช้สิทธิเสรีภาพโดยมีความรับผิดชอบ เคารพสิทธิผู้อื่นเคารพความแตกต่าง เคารพกติกา ประชาธิปไตยจึงจะประสบความสำเร็จได้ ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศเยอรมนี จัดให้มี การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง(Civic Education) ขึ้นมา และประสบความสำเร็จในการสร้างพลเมือง จนเป็นตัวอย่างให้กับประเทศต่างๆ และปัจจุบันการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองได้กลายเป็นปัจจัยความสำเร็จในการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
          "พลเมือง" ในระบอบประชาธิปไตย แตกต่างจากพลเมืองของระบอบอื่นที่พลเมืองจะมี"คุณสมบัติ" อย่างไร จะเป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจประสงค์จะให้เป็น ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยเจ้าของอำนาจสูงสุดคือประชาชน ดังนั้น ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจจึงกำหนดชีวิตตนเองได้"ประชาชน" ในระบอบประชาธิปไตย  จึงแตกต่างหลากหลายได้ เมื่อแตกต่างหลากหลายได้  จึงต้องเคารพซึ่งกันและกัน  และใช้กติกาในการแก้ปัญหาจึงจะสามารถอยู่ร่วมกันและปกครองกันตามวิถีทางประชาธิปไตยได้ ดังนั้น"พลเมือง"ในระบอบประชาธิปไตย จึงหมายถึงสมาชิกของสังคมที่มี อิสรภาพ(liberty) และ พึ่งตนเองได้(independent) ใช้สิทธิเสรีภาพโดยควบคู่กับความรับผิดชอบ เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เคารพความแตกต่าง เคารพหลักความเสมอภาค เคารพกติกา ไม่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตสาธารณะ และกระตือรือร้นที่จะรับผิดชอบหรือร่วมขับเคลื่อนสังคมและแก้ปัญหาผิดชอบหรือร่วมขับเคลื่อนสังคมและแก้ปัญหาสังคมในระดับต่างๆ ตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชนจนถึงระดับประเทศ ระดับอาเซียน และระดับประชาคมโลก "พลเมือง" ในระบอบประชาธิปไตยสามารถสรุปคุณสมบัติได้ 6 ประการดังต่อไปนี้
          1) มีอิสรภาพ (liberty) และพึ่งตนเองได้(independent) ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของระบบอุปถัมภ์
          2) เคารพสิทธิผู้อื่น ไม่ใช้สิทธิเสรีภาพของตนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น (ทั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ที่บัญญัติว่า "บุคคลย่อมใช้...สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น")
          3) เคารพความแตกต่าง มีทักษะในการฟัง และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง
          4) เคารพหลักความเสมอภาค เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น  และเห็นคนเท่าเทียมกันมองคนเป็นแนวระนาบ  ไม่ใช่แนวดิ่ง
          5) เคารพกติกา เคารพกฎหมาย ใช้กติกาในการแก้ปัญหา ไม่ใช้กำลัง และยอมรับผลของการละเมิดกฎหมาย
          6) รับผิดชอบต่อสังคม ตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม กระตือรือร้นที่จะรับผิดชอบและร่วมแก้ไขปัญหาสังคมโดยเริ่มต้นที่ตนเอง
          หลักการสำคัญของการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองจะไม่เน้นการเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นหน้าที่ตามที่กระทรวงศึกษาธิการสั่งหรือหน้าที่ตามที่รัฐบาลกำหนดและไม่เน้น"ความรู้เรื่องประชาธิปไตย"แต่ให้ความสำคัญ"ความเป็นประชาธิปไตย"มากกว่าด้วยเหตุผลดังกล่าว การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง จึงไม่ใช่การสอนด้วยการ "บรรยาย" แต่ผู้สอนต้องพัฒนาการสอนในรูป "กิจกรรม"และ"การลงมือปฏิบัติ"หรือการเรียนการสอนผ่าน"กระบวนการคิดวิเคราะห์  ฝึกปฏิบัติ" ขึ้นมา เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นความเชื่อมโยงที่มีนัยสำคัญมากขึ้นคือ เราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและการคลี่คลายแก้ไขปัญหา สำหรับกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวผู้สอนจะเป็น "วิทยากรกระบวนการ"ที่มีหน้าที่เชื่อมโยงการเรียนรู้กับประสบการณ์จริงในวิถีชีวิตทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจในความเป็นพลเมือง และการพัฒนาประชาธิปไตยจนก้าวลึกไปถึงการมีจิตสำนึกมีจิตวิญญาณประชาธิปไตย
          การดำเนินงานเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองและสังคมประชาธิปไตยนั้น  หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบดูแลการจัดการศึกษาของชาติในทุกระดับทั้งในระบบการศึกษา และนอกระบบการศึกษาต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางโดยเชื่อมประสานและอำนวยการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคเอกชนและองค์กรภาคประชาชนเข้ามาทำงานร่วมกันภายใต้ยุทธวิธีที่หลากหลาย แต่มียุทธศาสตร์เดียวกัน"
          ในเรื่องยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองนั้นประกอบด้วย
          ยุทธศาสตร์ที่ 1 การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองสำหรับเด็กและเยาวชน (1) เร่งให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรในสถานศึกษา ตั้งแต่ผู้บริหารครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคนโดยเน้นการเป็นผู้สอนและการเป็นผู้ปฏิบัติ "ความเป็นพลเมือง"เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับผู้เรียนแทนการสอนให้รู้  ให้จำแบบดั้งเดิม
          (2) ปรับและทบทวนเนื้อหาสาระการเรียนรู้ในวิชาหน้าที่พลเมืองที่เน้น "ความรู้"ในเรื่องรัฐธรรมนูญ และการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้เหลือเท่าที่จำเป็น
          (3) พัฒนากระบวนการเรียนการสอนและกิจกรรมในเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความเป็นพลเมือง และความเป็นประชาธิปไตยให้กับผู้เรียนเน้นกระบวนการกลุ่มและฝึกฝนให้นักเรียนเกิดทักษะที่เป็นพื้นฐานของความเป็นพลเมือง การรับฟังผู้อื่น การเคารพผู้อื่นว่าเสมอกับตนเอง การเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง การคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงปัญหาและเชื่อมโยงตนเองกับปัญหาสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น โดยแยกแยะ "ข้อเท็จจริง" ที่เป็น วัตถุวิสัย(objective) กับ "ความคิดเห็น"ที่เป็น อัตวิสัย(subjective) มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น คำนึงถึงส่วนรวม มีความรับผิดชอบต่อตนเองต่อผู้อื่น และต่อสังคม ผ่านการลงมือทำโครงการ/กิจกรรมต่างๆ ที่สถานศึกษาและผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้เป็นพลเมือง ซึ่งสามารถจัดเนื้อหาและกิจกรรมให้เหมาะสมกับระดับชั้นและช่วงวัยของนักเรียนได้ดังต่อไปนี้
          ยุทธศาสตร์ที่ 2 การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองสำหรับผู้ใหญ่ครอบครัว และชุมชน (1)สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ต้องสร้างหลักสูตร"การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองสำหรับผู้ใหญ่"โดยมีทั้งหลักสูตรการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองและการศึกษาเรื่องการเมืองในหัวข้อหรือวิชาต่างๆเช่น รัฐธรรมนูญ นิติรัฐ สิทธิเสรีภาพของประชาชน การเมืองภาคพลเมือง    และระบบการเลือกตั้ง  ให้ประชาชนสามารถเลือกเรียนได้
          (2) เสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน ร่วมกันจัดทำหลักสูตรและการอบรม "พลเมืองและประชาธิปไตยในชุมชน"ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนเพื่อฝึกฝนการเป็นพลเมืองที่เคารพผู้อื่น เคารพกติกา และการร่วมกันวิเคราะห์ แก้ปัญหาของท้องถิ่นและชุมชนด้วยการลงมือทำ
          (3) จัดทำ"คู่มือการเลี้ยงลูกให้เป็นพลเมือง"เพื่อเผยแพร่ความรู้และวิธีการในการเลี้ยงลูกให้เป็นพลเมือง และการสร้างประชาธิปไตยในครอบครัว
          ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างพลเมืองในวงกว้างและการสร้างความตระหนักในสังคมโดยใช้สื่อมวลชน
          การสร้าง "พลเมือง"จำเป็นต้องมีการสร้างความตระหนักในสังคม    สร้างความรู้ความเข้าใจและความตื่นตัวในวงกว้าง
          (1) ใช้สื่อมวลชน ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุสื่อสิ่งพิมพ์ อินเตอร์เน็ตในการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจและความตื่นตัวในเรื่อง "พลเมือง"และคุณสมบัติของความเป็น "พลเมือง" ในระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้ประชาชนช่วยกันสร้าง"พลเมือง" และพัฒนาตนเองให้เป็น "พลเมือง"ที่เคารพผู้อื่น เคารพกติกา และร่วมกันแก้ปัญหาของสังคมโดยเริ่มต้นที่ตนเอง
          (2) รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการจัดให้มีรายการโทรทัศน์ในเรื่อง "พลเมือง" สำหรับเยาวชนและมีรายการ "พลเมือง" สำหรับผู้ใหญ่ให้เกิดการตระหนักรู้ และการพัฒนาตนเอง
          (3) จัดให้มีรายการโทรทัศน์สำหรับครูในการเรียนรู้ทักษะ เทคนิควิธีการในการเรียนการสอนเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง
          (4) ประสานความร่วมมือกับสมาคมวิชาชีพสื่อสารมวลชน เพิ่มกลไกการดำเนินงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความตื่นตัวให้สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการสร้างพลเมือง รณรงค์ให้คนไทยมีความเป็นพลเมือง
          (5) ปลูกจิตสำนึกความเป็นพลเมืองให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการรวมถึงของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
          ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเชื่อมประสานเครือข่ายภาครัฐและเอกชน หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการในการจัดการศึกษาของชาติ ต้องสร้างเครือข่ายการทำงานเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
          ในเรื่องผลงานการสร้างความเป็นพลเมืองของสถานศึกษาในปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ผลักดันมาหลายปีผู้บริหารสถาบันอื่นๆ สามารถเรียนรู้ได้จากผลงานของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

สิทธิมนุษยชน

อำนาจพิจารณาคดีของไอซีซีกับกรณีการถือสองสัญชาติของผู้นำทหารอิสราเอล

แปลจากบทความ Fighting Dirty In Israel โดย Dan Ephron จากนิตยสารนิวส์วีค ตีพิมพ์เมื่อวันที่  28 กันยายน พ.ศ. 2551
หัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ นาย
 ลูอีส มอเรโน โอคัมโพ (Luis Moreno-Ocampo)  พยายามหลีกเลี่ยงทำคดีที่เป็นที่โต้แย้ง โดยเขาหวังว่าจะหยุดความกลัวของอเมริการที่มองว่าศาลไอซีซีจะถูกใช้เป็นเครื่องมื่อทางการเมืองเพื่อแก้แค้นกันของฝ่ายต่างๆ นั้นคือสาเหตุว่าเหตุใดถึงจะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ขณะนี้นาย ลูอีส มอเรโน โอคัมโพ  จะพิจารณาทำการสอบสวนพันโทสำรอง เดวิด เบนจามิน นายทหารจากกองทัพอิสราเอลว่าได้กระทำผิดอาชญากรรมสงครามในระหว่างแคมเปญกาซ่าเมื่อต้นปีนี้หรือไม่ ประเทศอิสราเอลมิได้ลงสัตยาบรรณต่อสนธิสัญญาก่อตั้งศาลไอซีซี ดังนั้นคดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของนาย ลูอีส มอเรโน โอคัมโพ แต่ด้วยความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย อัยการบอกนิวส์วีคว่า เขาเชื่อว่า เขามีอำนาจเพียงพอในการดำเนินการสอบสวนคดีนี้ เนื่องจากเบนจามินถือสองสัญชาติ คือสัญชาติอิสราเอลและแอฟฟริกาใต้ โดยประเทศหลังได้ลงนามในสนธิสัญญาก่อตั้งศาลไอซีซี ซึ่งทำให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าว
อาจเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์รายละเอียดคดี เบนจามินบอกนิวส์วีคว่าเขาอยู่นอกประเทศในระหว่างการปฏิบัติการกาซ่าเกือบทั้งหมดและไม่ได้มีบทบาทในการวางแผนแต่อย่างใด แต่ประเด็นเรื่องสองสัญชาติอาจถือเป็นบรรทัดฐานที่เป็นภัยต่อทั้งประเทศอิสราเอลและประเทศสหรัฐอเมริกา สองประเทศไม่ยอมรับอำนาจพิจารณาคดีของศาลไอซีซีได้ หากศาลสามารถสอบสวนคนอิสราเอลเพราะการถือสัญชาติแอฟฟริกาใต้ได้ แล้วทำไมจะไม่สามารถสอบสวนคนอเมริกันที่ถือสัญญาติเม็กซิโกได้? “การสัณนิษฐานดังกล่าวต่อกรณีของประเทศสหรัฐอาจมีเกิดปัญหาได้” นายไมเคิล นิวตัน ศาสตราจารย์กฎหมายระหว่าประเทศจากมหาวิทยาลัย Vanderbilt กล่าว แต่จนถึงขณะนี้ดูจะเป็นปัญหาต่อศาลที่ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวมากกว่า ในการต่อสู้เพื่อจัดตั้งความชอบด้วยกฎหมายในกรณีดังกล่าว
2
ก.พ.

ฟรีดอมเฮาส์และนักข่าวไร้พรหมแดนระบุสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยดีขึ้น

รายงานล่าสุดขององค์กรฮิวแมนไรท์วอซซ์ที่กลายเป็นข่าวโด่งดังเป็นสาเหตุทำให้รายงานสองฉบับที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนมกราคมจากองค์กรระหว่างประเทศองค์กรใหญ่ไม่ได้รับความสนใจในประเทศไทย รายงาน “เสรีภาพในโลกปี  2555” ขององค์กรฟรีดอมเฮาส์และรายงาน“การจัดลำดับเสรีภาพสื่อ”ของนักข่าวไร้พรหมแดนทำให้เห็นทิศทางที่ค่อนข้างแตกต่างเกี่ยวกับประเทศไทยนับตั้งแต่การเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งองค์กรฮิวแมนไรท์อ้างอย่างไร้สาระว่า การเลือกตั้งไม่ได้ส่งผลใดๆต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
นักข่าวไร้พรหมแดนจัดเสรีภาพสื่อในประเทศไทยให้อยู่ในลำดับที่ 137 ในความเป็นจริง การได้รับลำดับอันน่าสยดสยองนี้ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ยังคงเป็นเวลาอีกนานก่อนที่ประเทศไทยจะเดินหน้าไปสู่การเป็นประเทศเสรี หรือกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร แต่ในอีกแง่หนึ่ง  นักข่าวไร้พรหมแดนได้ยืนยันว่ามีเสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทยมีการพัฒนาขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 153 จากการสำรวจทุกประเทศในโลก และลำดับที่ลดลงของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2551  ได้หยุดนิ่งลง
และยังพบว่าประเทศไทยมีการพัฒนาในรูปแบบเดียวกันจากการจัดลำดับ “เสรีภาพในโลกปี 2555” ขององค์กรฟรีดอมเฮาส์ที่เน้นในเรื่องของสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางพลเรือนอย่างกว้าง ในปีที่แล้ว (และปีก่อนหน้านี้) ประเทศไทยได้รับ 5 คะแนนในด้าน “สิทธิทางการเมือง” และได้รับ 4 คะแนนด้าน “สิทธิพลเรือน” ( โดยมีเกณฑ์การวัดที่คะแนนสูงสุดคือ 1 และอย่ที่สุดคือ 7) และโดยรวมแล้วประเทศไทยถูดจัดให้เป็นประเทศที่ “มีเสรีภาพบางส่วน” แม้ว่าประเทศไทยจะยังคงถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่ “มีเสรีภาพบางส่วน” ในรายงานฉบับนี้ แต่คะแนนด้านสิทธิทางการเมืองดีขึ้น โดยได้ 4คะแนน ที่สำคัญกว่านั้นคือ ประเทศไทยได้ฟื้นฟูสถานภาพของ “ประชาธิปไตยในรูปแบบการเลือกตั้ง” อีกครั้ง ซึ่งหายไปนับตั้งแต่การทำรัฐประหารปี 2549 องค์กรฟรีดอมเฮาส์ปฏิเสธที่จะจัดให้ประเทศไทยมีสถานะ “ประชาธิปไตยในรูปแบบการเลือกตั้ง” หลังจากการเลือกตั้งปี 2550 ซึ่งถูกมองว่าไม่ “เป็นอิสระและยุติธรรม” แม้ว่าจะมีการปกครองโดยพลเรือนก็ตาม
การจัดลำดับของนักข่าวไร้พรหมแดนและองค์กรฟรีดอมเฮาส์แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลใหม่ได้นำพาประเทศไทยกลับมาสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตย แม้ว่าจะถูกขัดขวางก็ตาม การพัฒนาเพียงเล็กน้อยการสำรวจจากสององค์กรจึงไม่ถือว่าน่าพึงพอใจหรือควรจะเฉลิมฉลอง อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุด รายงานทั้งสองแสดงให้เห็นว่ามันมีความแตกแต่งระหว่างรัฐบาลที่เลือกโดยทหารและรัฐบาลที่เลือกโดยประชาชน ความแตกต่างนั้นคือ ประเทศไทยที่ถอยหลังลงคลองหรือประเทศไทยที่ก้าวไปข้างหน้า

ความขัดแย้ง


ความหมาย และความเป็นมา
ความขัดแย้ง (Conflict) หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับจุดมุ่งหมาย หรือวิธีการ หรือทั้งสองอย่างแต่เป็นการพึ่งพาอาศัยในทางลบอาจกล่าวอย่างกว้างๆได้ว่า ความขัดแย้ง หมายถึง การที่แต่ละฝ่ายไป ด้วยกันไม่ได้ในเรื่องเกี่ยวกับความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการจริง หรือศักยภาพที่จะเกิดตามต้องการ (เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์, 2540:11) ส่วนแนวคิดเกี่ยวกับความขัดแย้งในปัจจุบัน เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ( 2540) ได้รวบรวมประเด็นความขัดแย้งไว้ว่าความขัดแย้งอาจเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติงานในองค์การ ควรจะมีการบริหารความขัดแย้งให้เกิดผลดีที่สุด ความขัดแย้งอาจจะมีประโยชน์หรืออาจมีโทษขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารในองค์การที่ดีที่สุดจะมีความขัดแย้งในระดับที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยกระตุ้นแรงจูงใจให้คนปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งในองค์การ ความขัดแย้งเป็นของดีเพราะจะช่วยกระตุ้นให้คนพยายามหาทางแก้ปัญหาซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการทำงานของคน ปัจจัยเหล่านี้ผู้บริหารไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ปัจจัยทางด้านจิตวิทยา นักทฤษฎีทางด้านจิตวิทยา ได้ศึกษาพฤติกรรมเกี่ยวกับความขัดแย้ง และมีบทความข้อเขียนทางด้านวิชาการหลายท่าน ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้ง(Robbihns,1983 อ้างใน สิทธพงศ์ สิทธขจร, 2535) โดยได้จำแนกแนวความคิดเกี่ยวกับความขัดแย้งเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งแตกต่างกัน ดังนี้
1. แนวคิดสมัยดั้งเดิม (Traditional View) สันนิษฐานว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งไม่ดี และมีผลกระทบด้านลบต่อองค์การอยู่เสมอ ดังนั้น หากหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง ผู้บริหารจะต้องมีความรับผิดชอบที่จะต้องกำจัดความขัดแย้งขององค์การ วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้ง ก็คือ การออกกฎระเบียบ กระบวนการที่เข้มงวด เพื่อที่จะทำให้ความขัดแย้งหมดไป แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ความขัดแย้งก็ยังคงมีอยู่
2. แนวคิดด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Human Relations View) ยืนยันว่า ความขัดแย้งอาจจะเกิดขึ้นตาม ธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ภายในทุกองค์การ เนื่องจากไม่สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ มุมมองด้าน มนุษยสัมพันธ์ จึงสนับสนุนการยอมรับความขัดแย้ง โดยอธิบายไว้ว่า เหตุผลของการมีความขัดแย้ง เพราะไม่สามารถถูกกำจัดได้ และความขัดแย้งอาจจะมีประโยชน์ต่อภายในองค์การได้บ้างในบางเวลา มุมมองด้าน มนุษยสัมพันธ์นี้ ได้ครอบงำความคิดของนักวิชาการเกี่ยวกับความขัดแย้งตั้งแต่ปลายปี 2483 จนถึงปี 2513
3. แนวคิดสมัยใหม่ (Contemporary View) เมื่อแนวคิดด้านมนุษยสัมพันธ์ยอมรับความขัดแย้ง มุมมองที่เป็นแนวความคิดสมัยใหม่ จึงสนับสนุนความขัดแย้งบนรากฐานที่ว่า องค์การที่มีความสามัคคี ความสงบสุข ความเงียบสงบ และมีความร่วมมือ หากไม่ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น จากความขัดแย้ง การให้ความร่วมมือแก่องค์การจะกลายเป็นความเฉื่อยชา อยู่เฉย และไม่ตอบสนองต่อความต้องการเพื่อการเปลี่ยนแปลง และการคิดค้นใหม่ๆ ดังนั้นแนวความคิดสมัยใหม่สนับสนุนให้ผู้บริหารรักษาระดับความขัดแย้งภายในองค์การให้อยู่ในระดับต่ำสุด เพียงพอที่จะทำให้องค์การเจริญเติบโตและสร้างสรรค์

วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความยุติธรรม



สวัสดีท่านผู้ชม วันนี้ขอเสนอคำว่า "ความยุติธรรม" (มีใครเกิดทันรายการภาษาไทยวันละคำบ้างหนอ....บ่งบอกอายุเล็กน้อยนะคะ)
..................................
ความยุติธรรม เป็นคำที่ให้คำนิยามได้ยากที่สุดคำหนึ่งในทุก ๆ ภาษา เชื่อได้ว่าความยุติธรรมของแต่ละบุคคลคงแตกต่างกันไป เช่น
เจ้าหนี้ มองความความยุติธรรม คือ การที่ลูกหนี้ชำระหนี้ให้ครบถ้วน
ลูกหนี้ มองความยุติธรรม คือ เจ้าหนี้ควรคิดดอกเบี้ยให้น้อยลง หรือผ่อนชำระหนี้ให้บ้าง
โจทก์ มองว่าความยุติธรรม คือ ศาลพิพากษาให้ชนะคดี
จำเลยมองว่า ความยุติธรรมคือ ศาลยกฟ้องตนเอง
............................
แล้วความจริง " ความยุติธรรม" คืออะไร


ตามพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถานให้คำนิยามคำว่า “ ยุติธรรม ” ว่าคือ ความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ความชอบด้วยเหตุผล
ซึ่งความยุติธรรม เป็นสิ่งหนึ่งที่นักกฎหมายทุกคนต้องคำนึงถึง เพราะเป็นหน้าหนึ่งของนักกฎหมายที่ต้องผดุงความยุติธรรรม(ดูเป็นหนังจีนมากมาย) ยังไม่พอต้องมีความ "เที่ยงธรรม" ด้วย เอาแล้วคะ.... แล้วความเที่ยงธรรมหล่ะ คืออะไร
คำว่า “ เที่ยงธรรม ” มีความหมายว่า “ ตั้งตรงด้วยความเป็นธรรม ” แล้วมันหมายความว่าอะไร
...................................
เอาเป็นว่า อ.กิ๊ก ค้นหาจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ดังนี้
“ คุณ ” หมายความว่า ความดีที่มีประจำอยู่
“ ธรรม ” หมายความว่า คุณความดี ความถูกต้อง
“ คุณธรรม ” หมายความว่า สภาพคุณงามความดี
“ จริยะ ” หมายความว่า ความประพฤติ กริยาที่ควรประพฤติ
“ ธรรมจริยา ” หมายความว่า การประพฤติเป็นธรรม การประพฤติถูกธรรม
“ จริยธรรมา ” หมายความว่า ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ


“ จริยธรรมในวิชาชีพกฎหมาย ” หมายความว่า ข้อที่ผู้ประกอบอาชีพในทางกฎหมายความประพฤติและปฏิบัติ
........................................
ซึ่งในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ซึ่งในวงการกฎหมายยอมรับและนับถือกันว่า ท่านเป็นผู้รอบรู้และเป็นแบบอย่างในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมในทางกฎหมาย ได้ให้ความหมายในเรื่องจริยธรรมของนักกฎหมายไว้ว่า “ จริยธรรมของนักกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพของนักกฎหมายที่ดีประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง คือ การดำรงตนในสังคมอย่างนักกฎหมายที่ดี ”
............................................
เพราะฉะนั้น ใครที่คิดอยากเรียนกฎหมาย ต้องเข้าใจคำนี้ให้ดีนะคะ เพราะเป็นสิ่งที่นักกฎหมายพึงมี พึงปฏิบัติ
ต้องพยายามทำให้ความยุติธรรมตามตัวบทกฎหมาย เข้าใกล้ความยุติธรรมตามความเป็นจริงให้มากที่สุด
...............................................................
มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ การสร้างความยุติธรรมให้กับสังคมนี้ ด้วยกันนะคะ
<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<
aj_kukkik@hotmail.com