วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความเป็นพลเมืองโลก






การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง
วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต
          ผู้ใหญ่จำนวนมากมักบ่นกันว่าทำไมนักเรียนปัจจุบันจึงไม่เรียนวิชา "หน้าที่พลเมือง"คำตอบก็คือ มันได้ถูกลดความสำคัญให้เหลือเพียงเป็นสาระหนึ่งในสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาเท่านั้น และอีกทั้งเป็นวิชาที่แทบไม่มีผลต่อการเรียนต่อหรือเข้ามหาวิทยาลัยเลย ดังนั้น จึงไม่ได้รับความสำคัญและขาดการพัฒนาอย่างเหมาะสมกับยุคสมัย ปัจจุบันกำลังจะกลับคืนมาแล้วตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง
          คณะอนุกรรมการด้านพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดี ซึ่งมีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธาน ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองได้เสนอยุทธศาสตร์ต่อคณะกรรมการนโยบาย และได้รับการอนุมัติแล้วขอนำข้อความบางส่วนจากเอกสาร "ยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง พ.ศ.2553-2561"มาเผยแพร่".....'ประชาธิปไตย' คือการปกครองโดยประชาชนหรือประชาชนปกครองตนเอง ประชาธิปไตยจึงไม่อาจประสบความสำเร็จได้ ถ้าประชาชนไม่มีความสามารถในการปกครองกันเองตามระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่เพียงแต่มีรัฐธรรมนูญที่ดีเท่านั้น แต่ประชาชนจะต้องเป็น "พลเมือง" ตามระบอบประชาธิปไตยด้วย กล่าวคือมีสมาชิกของสังคมที่ใช้สิทธิเสรีภาพโดยมีความรับผิดชอบ เคารพสิทธิผู้อื่นเคารพความแตกต่าง เคารพกติกา ประชาธิปไตยจึงจะประสบความสำเร็จได้ ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศเยอรมนี จัดให้มี การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง(Civic Education) ขึ้นมา และประสบความสำเร็จในการสร้างพลเมือง จนเป็นตัวอย่างให้กับประเทศต่างๆ และปัจจุบันการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองได้กลายเป็นปัจจัยความสำเร็จในการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
          "พลเมือง" ในระบอบประชาธิปไตย แตกต่างจากพลเมืองของระบอบอื่นที่พลเมืองจะมี"คุณสมบัติ" อย่างไร จะเป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจประสงค์จะให้เป็น ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยเจ้าของอำนาจสูงสุดคือประชาชน ดังนั้น ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจจึงกำหนดชีวิตตนเองได้"ประชาชน" ในระบอบประชาธิปไตย  จึงแตกต่างหลากหลายได้ เมื่อแตกต่างหลากหลายได้  จึงต้องเคารพซึ่งกันและกัน  และใช้กติกาในการแก้ปัญหาจึงจะสามารถอยู่ร่วมกันและปกครองกันตามวิถีทางประชาธิปไตยได้ ดังนั้น"พลเมือง"ในระบอบประชาธิปไตย จึงหมายถึงสมาชิกของสังคมที่มี อิสรภาพ(liberty) และ พึ่งตนเองได้(independent) ใช้สิทธิเสรีภาพโดยควบคู่กับความรับผิดชอบ เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เคารพความแตกต่าง เคารพหลักความเสมอภาค เคารพกติกา ไม่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตสาธารณะ และกระตือรือร้นที่จะรับผิดชอบหรือร่วมขับเคลื่อนสังคมและแก้ปัญหาผิดชอบหรือร่วมขับเคลื่อนสังคมและแก้ปัญหาสังคมในระดับต่างๆ ตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชนจนถึงระดับประเทศ ระดับอาเซียน และระดับประชาคมโลก "พลเมือง" ในระบอบประชาธิปไตยสามารถสรุปคุณสมบัติได้ 6 ประการดังต่อไปนี้
          1) มีอิสรภาพ (liberty) และพึ่งตนเองได้(independent) ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของระบบอุปถัมภ์
          2) เคารพสิทธิผู้อื่น ไม่ใช้สิทธิเสรีภาพของตนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น (ทั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ที่บัญญัติว่า "บุคคลย่อมใช้...สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น")
          3) เคารพความแตกต่าง มีทักษะในการฟัง และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง
          4) เคารพหลักความเสมอภาค เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น  และเห็นคนเท่าเทียมกันมองคนเป็นแนวระนาบ  ไม่ใช่แนวดิ่ง
          5) เคารพกติกา เคารพกฎหมาย ใช้กติกาในการแก้ปัญหา ไม่ใช้กำลัง และยอมรับผลของการละเมิดกฎหมาย
          6) รับผิดชอบต่อสังคม ตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม กระตือรือร้นที่จะรับผิดชอบและร่วมแก้ไขปัญหาสังคมโดยเริ่มต้นที่ตนเอง
          หลักการสำคัญของการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองจะไม่เน้นการเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นหน้าที่ตามที่กระทรวงศึกษาธิการสั่งหรือหน้าที่ตามที่รัฐบาลกำหนดและไม่เน้น"ความรู้เรื่องประชาธิปไตย"แต่ให้ความสำคัญ"ความเป็นประชาธิปไตย"มากกว่าด้วยเหตุผลดังกล่าว การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง จึงไม่ใช่การสอนด้วยการ "บรรยาย" แต่ผู้สอนต้องพัฒนาการสอนในรูป "กิจกรรม"และ"การลงมือปฏิบัติ"หรือการเรียนการสอนผ่าน"กระบวนการคิดวิเคราะห์  ฝึกปฏิบัติ" ขึ้นมา เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นความเชื่อมโยงที่มีนัยสำคัญมากขึ้นคือ เราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและการคลี่คลายแก้ไขปัญหา สำหรับกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวผู้สอนจะเป็น "วิทยากรกระบวนการ"ที่มีหน้าที่เชื่อมโยงการเรียนรู้กับประสบการณ์จริงในวิถีชีวิตทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจในความเป็นพลเมือง และการพัฒนาประชาธิปไตยจนก้าวลึกไปถึงการมีจิตสำนึกมีจิตวิญญาณประชาธิปไตย
          การดำเนินงานเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองและสังคมประชาธิปไตยนั้น  หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบดูแลการจัดการศึกษาของชาติในทุกระดับทั้งในระบบการศึกษา และนอกระบบการศึกษาต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางโดยเชื่อมประสานและอำนวยการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคเอกชนและองค์กรภาคประชาชนเข้ามาทำงานร่วมกันภายใต้ยุทธวิธีที่หลากหลาย แต่มียุทธศาสตร์เดียวกัน"
          ในเรื่องยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองนั้นประกอบด้วย
          ยุทธศาสตร์ที่ 1 การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองสำหรับเด็กและเยาวชน (1) เร่งให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรในสถานศึกษา ตั้งแต่ผู้บริหารครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคนโดยเน้นการเป็นผู้สอนและการเป็นผู้ปฏิบัติ "ความเป็นพลเมือง"เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับผู้เรียนแทนการสอนให้รู้  ให้จำแบบดั้งเดิม
          (2) ปรับและทบทวนเนื้อหาสาระการเรียนรู้ในวิชาหน้าที่พลเมืองที่เน้น "ความรู้"ในเรื่องรัฐธรรมนูญ และการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้เหลือเท่าที่จำเป็น
          (3) พัฒนากระบวนการเรียนการสอนและกิจกรรมในเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความเป็นพลเมือง และความเป็นประชาธิปไตยให้กับผู้เรียนเน้นกระบวนการกลุ่มและฝึกฝนให้นักเรียนเกิดทักษะที่เป็นพื้นฐานของความเป็นพลเมือง การรับฟังผู้อื่น การเคารพผู้อื่นว่าเสมอกับตนเอง การเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง การคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงปัญหาและเชื่อมโยงตนเองกับปัญหาสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น โดยแยกแยะ "ข้อเท็จจริง" ที่เป็น วัตถุวิสัย(objective) กับ "ความคิดเห็น"ที่เป็น อัตวิสัย(subjective) มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น คำนึงถึงส่วนรวม มีความรับผิดชอบต่อตนเองต่อผู้อื่น และต่อสังคม ผ่านการลงมือทำโครงการ/กิจกรรมต่างๆ ที่สถานศึกษาและผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้เป็นพลเมือง ซึ่งสามารถจัดเนื้อหาและกิจกรรมให้เหมาะสมกับระดับชั้นและช่วงวัยของนักเรียนได้ดังต่อไปนี้
          ยุทธศาสตร์ที่ 2 การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองสำหรับผู้ใหญ่ครอบครัว และชุมชน (1)สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ต้องสร้างหลักสูตร"การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองสำหรับผู้ใหญ่"โดยมีทั้งหลักสูตรการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองและการศึกษาเรื่องการเมืองในหัวข้อหรือวิชาต่างๆเช่น รัฐธรรมนูญ นิติรัฐ สิทธิเสรีภาพของประชาชน การเมืองภาคพลเมือง    และระบบการเลือกตั้ง  ให้ประชาชนสามารถเลือกเรียนได้
          (2) เสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน ร่วมกันจัดทำหลักสูตรและการอบรม "พลเมืองและประชาธิปไตยในชุมชน"ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนเพื่อฝึกฝนการเป็นพลเมืองที่เคารพผู้อื่น เคารพกติกา และการร่วมกันวิเคราะห์ แก้ปัญหาของท้องถิ่นและชุมชนด้วยการลงมือทำ
          (3) จัดทำ"คู่มือการเลี้ยงลูกให้เป็นพลเมือง"เพื่อเผยแพร่ความรู้และวิธีการในการเลี้ยงลูกให้เป็นพลเมือง และการสร้างประชาธิปไตยในครอบครัว
          ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างพลเมืองในวงกว้างและการสร้างความตระหนักในสังคมโดยใช้สื่อมวลชน
          การสร้าง "พลเมือง"จำเป็นต้องมีการสร้างความตระหนักในสังคม    สร้างความรู้ความเข้าใจและความตื่นตัวในวงกว้าง
          (1) ใช้สื่อมวลชน ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุสื่อสิ่งพิมพ์ อินเตอร์เน็ตในการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจและความตื่นตัวในเรื่อง "พลเมือง"และคุณสมบัติของความเป็น "พลเมือง" ในระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้ประชาชนช่วยกันสร้าง"พลเมือง" และพัฒนาตนเองให้เป็น "พลเมือง"ที่เคารพผู้อื่น เคารพกติกา และร่วมกันแก้ปัญหาของสังคมโดยเริ่มต้นที่ตนเอง
          (2) รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการจัดให้มีรายการโทรทัศน์ในเรื่อง "พลเมือง" สำหรับเยาวชนและมีรายการ "พลเมือง" สำหรับผู้ใหญ่ให้เกิดการตระหนักรู้ และการพัฒนาตนเอง
          (3) จัดให้มีรายการโทรทัศน์สำหรับครูในการเรียนรู้ทักษะ เทคนิควิธีการในการเรียนการสอนเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง
          (4) ประสานความร่วมมือกับสมาคมวิชาชีพสื่อสารมวลชน เพิ่มกลไกการดำเนินงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความตื่นตัวให้สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการสร้างพลเมือง รณรงค์ให้คนไทยมีความเป็นพลเมือง
          (5) ปลูกจิตสำนึกความเป็นพลเมืองให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการรวมถึงของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
          ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเชื่อมประสานเครือข่ายภาครัฐและเอกชน หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการในการจัดการศึกษาของชาติ ต้องสร้างเครือข่ายการทำงานเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
          ในเรื่องผลงานการสร้างความเป็นพลเมืองของสถานศึกษาในปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ผลักดันมาหลายปีผู้บริหารสถาบันอื่นๆ สามารถเรียนรู้ได้จากผลงานของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น